G6PD โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จัก

G6PD คืออะไร? ทำไมเด็กๆหลายคนถึงป่วยเป็นโรคนี้กัน?

โรค G6PD  หรือ โรคพร่องเอนไซม์ G6PD

(G6PD deficiency หรือ glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency)

โรค G6PD ถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านโครโมโซม X และเป็นลักษณะด้อย (X-linked recessive)  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ราว 90% จึงเป็นเพศชาย ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการและสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติตลอดชีพ เว้นแต่จะได้รับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน โดยเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างเอนไซม์ G6PD ทำให้ได้เอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยกว่าปกติ เอนไซม์ G6PD  มีบทบาทในการช่วยปกป้องเม็ดเลือดแดงไม่ให้แตกง่าย ผู้ป่วยโรค G6PD จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคโลหิตจางเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก โดยเฉพาะเมื่อได้รับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน (oxidative stress) เช่น โรคติดเชื้อ ยา อาหาร สารเคมี บางชนิด

ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ยังเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรมที่เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติเนื่องจากแตกง่าย และหากมีการสร้างเม็ดเลือดแดงมาทดแทนไม่ทันจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้ เอนไซม์ G6PD ไม่ได้พบเฉพาะในเม็ดเลือดแดง ยังพบในเซลล์ชนิดอื่น ๆ ทั่วร่างกาย แต่เม็ดเลือดแดงจะไวต่อภาวะพร่องเอนไซม์นี้มากกว่าเซลล์ชนิดอื่น ด้วยเหตุนี้โรค G6PD จึงอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่นได้หลายอย่างเพียงแต่ไม่แสดงอาการที่ชัดเจน

สิ่งที่กระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตก ซึ่งผู้ป่วยG6PDควรหลีกเลี่ยง

ความรุนแรงของภาวะเม็ดเลือดแดงแตกนอกจากขึ้นกับระดับความพร่องของเอนไซม์ G6PD แล้ว ยังขึ้นกับชนิดและปริมาณของสิ่งกระตุ้นด้วย ตัวอย่างสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชันซึ่งผู้ป่วยโรค G6PD ควรหลีกเลี่ยง แบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  1. โรคติดเชื้อไม่ว่าจะเกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือรา ล้วนทำให้เกิดอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายผ่านกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้น ตัวอย่างโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุและพบบ่อย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส (cytomegalovirus infection) โรคปอดอักเสบ โรคไข้ไทฟอยด์
  2. ยา ผู้ป่วยโรค G6PD มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เมื่อได้รับยาที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน ยาแต่ละชนิดมีศักยภาพในการกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชันได้มากน้อยต่างกัน ระดับคำแนะนำในการใช้ยาจึงแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดยา ตัวอย่างยาที่ผู้ป่วย G6PD ควรหลีกเลี่ยง เช่น แดปโซน (dapsone), พริมาควิน (primaquine), ซัลฟานิลาไมด์ (sulfanilamide), ไนโทรฟูแรนโทอิน (nitrofurantoin), เมทีลีนบลู (methylene blue), เฟนาโซไพริดีน (phenazopyridine) เป็นต้น
  3. อาหาร เช่น ถั่วบางชนิด โดยเฉพาะถั่วปากอ้าหรือถั่วฟาวา (fava beans, broad beans หรือ horse beans) นอกจากนี้อาจมีถั่วชนิดอื่น ๆ รวมถึงถั่วลิสงด้วย ส่วนอาหารประเภทอื่นที่ต้องระวัง เช่น บลูเบอรี่ นอกจากอาหารแล้วสิ่งที่เติมลงในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสารถนอมอาหาร เช่น สารประเภทซัลไฟต์ (ที่ใส่ในขนมขบเคี้ยว อาหารหรือน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง ไส้กรอก เป็นต้น) หรือสารปรุงแต่งอื่น ๆ เช่น สีผสมอาหาร อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชันได้เช่นกัน
  1. สารเคมี เช่น เมนทอล (menthol) ซึ่งพบในขนมประเภทลูกอมและในยาสีฟัน, การบูร (camphor), แนปทาลีน (naphthalene) ที่นำมาทำลูกเหม็น (mothballs), แนปทอล (naphthol) ในยาย้อมผม, อะนิลีน (aniline) ที่ใช้ทำหมึกพิมพ์ สีย้อม และยังนำไปใช้ในการสังเคราะห์สารอื่นได้หลายอย่าง, เฮนนา (henna) ที่นำมาย้อมผมหรือทำให้เกิดรอยสัก (tattoo), โทลูอิดีนบลู (toluidine blue) ที่ใช้เป็นสีย้อมเซลล์ในห้องปฏิบัติการ

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรค G6PD

  1. หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน ไม่ว่าจะเป็นยา อาหาร หรือสารเคมี ผู้ป่วยโรคG6PD ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการผิดปกติเลยหากไม่ได้รับสิ่งกระตุ้น
  2. ดูแลสุขภาพร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อ และหากมีไข้ให้รีบเข้ารับการรักษา พร้อมทั้งแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบว่าตนเองมีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาที่อาจเป็นอันตราย
  3. หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก โดยเฉพาะหลังการรับประทานยา เช่น ปัสสาวะมีสีคล้ำ เกิดภาวะซีด หายใจหอบ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและวินิจฉัย อาจมีการปรับเปลี่ยนยา ในกรณีที่เกิดจากยาอาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดใช้ยานั้น
  4. ควรบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และบริโภคอย่างครบถ้วน ไม่เลือกบริโภคเฉพาะอาหารที่ชอบ เพราะจะขาดความสมดุลของสารอาหาร ซึ่งสารอาหารบางอย่างช่วยต้านการเกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการสูบบุหรี่
  6. การออกกำลังกายช่วยลดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน แต่อย่าออกกำลังกายอย่างหักโหม เพราะจะเพิ่มการใช้ออกซิเจนอย่างมากและกล้ามเนื้อทำงานหนัก จนอาจชักนำให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน (exercise-induced oxidative stress) ได้เช่นกัน นอกจากนี้เอนไซม์ G6PD ในเซลล์กล้ามเนื้อของผู้ป่วยจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าปกติด้วย จึงอาจเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรออกกำลังกายแต่พอสมควร

ภาวะพร่องเอนไซด์ G6PD ในเด็ก มีอาการอย่างไร

อาการที่พบบ่อยที่สุด คือจะพบได้ในเด็กทารกอายุ 1-4 วัน ที่มีภาวะซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกอย่างฉับพลัน โดยในเด็กทารกจะพบว่ามีอาการดีซ่านที่ยาวนานผิดปกติ ส่วนในผู้ใหญ่นั้นจะพบว่า ปัสสาวะมีสีดำ ถ่ายปัสสาวะน้อยจนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ใจเต้นเร็ว หายใจหอบ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การควบคุมสมดุลของ Electrolytes (สารเกลือแร่ต่างๆในร่างกาย) ของร่างกายเสียไปด้วย โดยเฉพาะการเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง 

ภาวะพร่องเอนไซด์ G6PD ในเด็ก และการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

  1. ในทารกแรกเกิดที่มีอาการตัวเหลือง หลังคลอดที่มีระดับสารเหลืองเกินปกติจะต้องได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟ เพื่อ ให้แสงไฟทำปฏิกิริยากับสารเหลืองที่อยู่ในบริเวณผิวหนัง กลายเป็น สารชนิดที่สามารถขับออกจากร่างกายได้ โดยสารเหลืองดังกล่าวจะขับออกมาจากปัสสาวะ อุจจาระของ ทารกก็จะมีระดับสารเหลืองที่ลดลง จนอยู่ในระดับปลอดภัยสามารถกลับบ้านได้
  2. การดูแลทารกที่มีภาวะพร่องหรือขาดเอนไซม์ G6PD ดูแลทั่วไปเหมือนทารกปกติสามารถดื่มนมแม่ได้แต่ มียาต้องห้ามและอาหารต้องห้ามเฉพาะโรคที่คุณแม่ควรเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งมักเป็นยาที่ไม่ได้ใช้กับทารกอยู่แล้ว
  3. คุณแม่ต้องติดตามอาการและอาการแสดงอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกจะเหมือนคนปกติทั่วๆไป จะเเสดงอาการก็ต่อเมื่อได้รับยาหรืออาหารต้องห้ามก็จะเกิดภาวะซีด ตัวเหลือง ตาเหลืองฉับพลัน ปัสสาวะสีเข้มเหมือนสีโค๊ก หากซีดมาก จะมีอาการเหนื่อยจนต้องได้รับเลือด
  4. คุณแม่ที่มีลูกน้อยพร่องG6PD จะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญัในการรับประทานอาหารและหลีกเลี่ยงยาที่มีผลต่อร่างกาย เพราะฉะนั้นแล้ว หากมีโอกาสตองเข้ารับการรักษาหรือต้องได้รับยา จะต้องแจ้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ให้ทราบทุกครั้ง ว่ามีภาวะผิดปกติของภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD
  5. คุณแม่พกบัตรผู้ป่วยพร่องG6PD ทางโรงพยาบาลจะออกให้เมื่อตรวจพบ

ที่มา: 

  • http://www.mamaexpert.com/posts/content-73
  • https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/490/โรคจีซิกพีดียาและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง/

lifeinsurecompanion.com เป็นเว็บไซต์ของตัวแทนประกันชีวิต บริษัท อาคเนย์ ประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ที่สนใจ สำหรับรายละเอียดและสาระสำคัญต้องยึดถึอตามเอกสารของบริษัท และข้อมูลตามกรมธรรม์เท่านั้น