Asset Allocation กระจายการลงทุนยังไงดี?

การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) คือ การวางแผนกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) หรือหลักทรัพย์ (Securities) หลายประเภทที่แตกต่างกันไปเพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนระยะยาว (Long – term Investment Goal) 

โดยการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนจะพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ (Expected Return) จากหลักทรัพย์แต่ละประเภทเพื่อกำหนดสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนและระยะเวลาที่ต้องการลงทุน

ปัจจัยที่มีผลการเลือก Asset Allocation

1. ระดับผลตอบแทนที่ต้องการ

ผลตอบแทนที่มากขึ้นจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากขึ้น ดังนั้นถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง ก็ต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์อย่าง หุ้น ตราสารอนุพันธ์ หรือ สกุลเงินดิจิตอลต่างๆ ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้นจากการลงทุนจำนวนมากด้วยเช่นกัน

2. ระยะเวลาในการลงทุน

ในกรณีที่เรามีระยะเวลาลงทุนที่นาน ก็ยิ่งทำให้ผลตอบแทนทบต้นแสดงประสิทธิภาพได้ดีขึ้น จนมีสถิติที่ว่า “หากคุณเริ่มลงทุนเพื่อการเกษียณช้าไป10ปี คุณจะต้องเก็บเงินรายเดือนมากกว่าเดิมถึง3เท่า หากต้องการเงินภายหลังเกษียณที่เท่ากัน”

นอกจากนี้ การมีระยะเวลาที่นานกว่ายังช่วยให้เราสามารถยอมรับความผันผวนได้สูงขึ้น เนื่องจากเราสามารถรอได้ ดังนั้นเราจึงเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ในสัดส่วนที่มากกว่า ส่งผลให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าไปด้วย

3. ลักษณะนิสัยส่วนตัว

ในกรณีที่เป็นคนจิตใจไม่มั่นคง ไม่สามารถรับความผันผวนของการลงทุนได้ ก็ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับผลตอบแทนแน่นอน ซึ่งถึงแม้จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่า แต่ก็สบายใจกว่า 
 

4. ปัจจัยอื่นๆ

  • เป้าหมายในการลงทุน เช่น การเก็บเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับลูกในอีก 5ปี ข้างหน้า ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับเงินเก็บปัจจุบันที่มีอยู่ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด จากนั้นต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับผลตอบแทนที่ต้องการ โดยต้องคำนึงเรื่องความเสี่ยงจากการลงทุนที่ไม่เสี่ยงมากนักด้วย
  • สถานภาพชีวิต เช่น คนมีลูกควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยกว่าคนไม่มีลูก หรือ เลือกลงทุนโดยซื้อประกันชีวิตที่ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนและมีผลประโยชน์ในเรื่องของทุนประกันกรณีเสียชีวิตด้วย

รูปแบบสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่างๆ

1. เงินฝากธนาคาร

ความเสี่ยงต่ำเนื่องจากโอกาสที่ธนาคารจะมีปัญหาจนไม่สามารถคืนเงินต้นได้นั้นต่ำมาก ดังนั้นผลตอบแทนก็ต่ำเช่นกันซึ่งปัจจุบันอยู่ที่น้อยกว่า 1%ต่อปี
 

2. ตราสารหนี้

  • ตราสารหนี้ภาครัฐ คือเอกสารที่ภาครัฐออกให้เป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงิน จากนักลงทุนทั่วไป ในด้านของความเสี่ยงที่เจ้าหนี้จะไม่ได้รับเงินคืนนั้น อยู่ในระดับต่ำ เพราะภาครัฐมีความสามารถหารายรับจากเงินภาษี และยังสามารถกู้เงินใหม่มาใช้คืนเงินกู้เดิมได้ด้วย ในด้านของความผันผวนของราคาตราสารหนี้ชนิดนี้ ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐก็จะอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน
  • ตราสารหนี้ภาคเอกชน คือเอกสารที่บริษัทเอกชนออกให้เป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงินจากนักลงทุนทั่วไป ซึ่งระดับความเสี่ยงว่าจะได้รับคืนเงินที่ให้กู้ยืมไปหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของบริษัทผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ

3. ตราสารทุน

ได้แก่ หุ้นสามัญ โดยราคาหุ้นสามัญนั้นก็สามารถขยับขึ้นลงได้รายวัน เปลี่ยนไปตามปัจจัยต่างๆ มากมายที่เข้ามากระทบ เช่น ภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การควบรวมธุรกิจ การประกาศผลประกอบการของบริษัท เป็นต้น
 
เมื่อมีปัจจัยมากมายที่รายล้อมอยู่ ความเสี่ยงด้านราคาของหุ้นสามัญจึงมีสูงมาก เพียงข้ามคืนก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ถึงหลักสิบเปอร์เซนต์ ทั้งในฝั่งได้กำไรและขาดทุน

 

4. เงินสกุลต่างประเทศ

นับเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ใช้ลงทุนได้เช่นกัน เนื่องจากการถือเงินสกุลต่างประเทศไปสักช่วงเวลาหนึ่งนั้น สามารถสร้างผลกำไร(หรือขาดทุน) ได้ ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยมีปัจจัยมากมาย ที่จะทำให้ราคาของเงินสกุลต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดุลการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย นโยบายการเงินของธนาคารกลาง การซื้อขายในตลาดเงินตราระหว่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ซึ่งทำให้การลงทุนในเงินสกุลต่างประเทศมีความเสี่ยงสูง

5. ตราสารอนุพันธ์ หรือสัญญาอนุพันธ์

เป็นตราสารที่จะให้สิทธิแก่ผู้ถือตราสารในการได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในอนาคต และเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่มีราคาแปรเปลี่ยนไปตามสินทรัพย์อ้างอิง และระดับการเปลี่ยนแปลงของราคาอนุพันธ์นั้น มักจะเป็นทวีคูณของราคาสินทรัพย์อ้างอิง

6. กองทุนรวม

คือการนำเอาสินทรัพย์ทางการเงินหลายตัวมารวมกัน แล้วแบ่งเป็นหน่วยย่อย ๆ เพื่อให้นักลงทุนเลือกซื้อได้ด้วยจำนวนเงินที่น้อยลง และเนื่องจากกองทุนรวมนั้นสามารถมีไส้ในได้หลากหลายประเภท ระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังที่จะได้ ก็จะแปรไปตามสินทรัพย์ไส้ในของกองทุนรวมนั้นๆ

7. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือ บำนาญ

เป็นรูปแบบการออมเงินแบบหนึ่ง ซึ่งได้รับผลตอบแทนแน่นอน ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงต่ำ และผลตอบแทนไม่สูงมาก

แต่จุดเด่นของสินทรัพย์ประเภทนี้คือ มีวงเงินความคุ้มครองเรียกกว่าทุนประกันจ่ายให้ ในกรณีที่ผู้ลงทุนเสียชีวิตอีกด้วย 

 

Credit

https://www.myaccount-cloud.com/Article/Detail/91492

https://aommoney.com/stories/mrpunngern/

lifeinsurecompanion.com เป็นเว็บไซต์ของตัวแทนประกันชีวิต บริษัท อาคเนย์ ประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ที่สนใจ สำหรับรายละเอียดและสาระสำคัญต้องยึดถึอตามเอกสารของบริษัท และข้อมูลตามกรมธรรม์เท่านั้น